คนญี่ปู๊น คนญี่ปุ่น

เรื่องราวแปลกๆของคนญี่ปุ่น ที่มันช่างญี่ปู๊นญี่ปุ่น จนทำให้คนไทยอย่างผม งงงวยไปกับความเป็นญี่ปุ่นอย่างยอมรับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง หรือต้องทนยอมรับบ้าง

Friday, March 03, 2006

ตอนที่ 3: เด็กทุน(ญี่ปุ่น)ต้องอดทน

คืนที่เขียนบล๊อกวันนี้เป็นคืนก่อนที่จะเดินทางกลับเมืองไทยไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอนเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่มาเรียนที่มหาวิทยาลัยเกียวโตด้วยทุนรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อเกือบๆ 2 ปีที่แล้ว กว่าจะสามารถกำหนดวันกลับบ้านได้ในคราวนี้ มีเรื่องที่ทำให้ต้องลำบากใจ เหนื่อยใจ จนปลงกับความเป็นคนญี่ปู๊นญี่ปุ่น กับระบบแบบญี่ปู๊นญี่ปุ่นได้อย่างสงบใจ แต่เนื่องจากเรารับเงินของรัฐบาลประเทศเขา จึงไม่มีเหตุผลอื่นใดที่จะไปโต้แย้ง นอกเสียจากได้แต่ให้คำแนะนำบางอย่างแก่เขา และรอคอยเท่านั้น

เรื่องก็มีอยู่ว่าผมเตรียมตัวที่จะกลับบ้านในช่วงปลายเดือนกุมภาหรืออาจจะต้นเดือนมีนาเหมือนเมื่อปีที่แล้ว แต่ได้รับการเตือนจากเพื่อนทุนปีก่อนว่า จะมีการเซ็นชื่อใบสัญญาต่อทุนในช่วงที่ผมจะกลับนี้ เนื่องจากทุนสัญญาแรกของผมจะหมดเมื่อครบ 2 ปีแรก ในปลายเดือนมีนาคม ทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมาทันทีว่า ทำไมจึงไม่ได้รับการบอกกล่าวใดๆจากทั้งทางภาควิชา คณะ หรือแม้แต่หน่วยงานที่เรียกว่า Foreign Student Division (FSD) ซึ่งทำหน้าที่ติดต่อกับเด็กนักเรียนต่างชาติโดยตรง ทั้งๆที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถึงมากที่สุด เพราะถ้าผมไม่ได้เซ็น ก็เท่ากับว่า ไม่มีสตางค์เรียนต่อแน่นอน

ย่างเข้าต้นเดือนกุมภาก็แล้ว ก็ยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆจากใครทั้งสิ้น ผมจึงตัดสินใจไปสอบถามเรื่องนี้ด้วยตนเองจากทางคณะ เพื่อจะไปปรึกษาว่าควรจะกลับช่วงไหนที่น่าจะปลอดภัยต่อการเซ็นมากที่สุด แต่คำตอบที่ได้ ก็คือว่า ไม่สามารถยืนยันอะไรได้(เลย) เพราะไม่ได้มีการบอกชัดเจนจากทางกระทรวงศึกษาฯว่าจะส่งมาเมื่อไหร่ แล้วต้องส่งกลับภายในวันที่เท่าไหร่ ก็เลยเดินคอตกกลับไป

อีกอาทิตย์ต่อมา มีโอกาสได้เข้าไปที่เมนแคมปัส เพราะต้องไปทำเรื่องต่อวีซ่าซึ่งจะหมดไปพร้อมๆกับทุนนั่นเอง นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่เด็กที่เรียนในต่างประเทศจะต้องรับผิดชอบตัวเองตรงนี้ให้ดี ผมจึงถือโอกาสนี้ไปต่อว่าที่ FSD เล็กน้อย เอาเป็นว่าให้คำแนะนำในการทำงานของเค้า เพื่อจะได้ปรับปรุงสำหรับปีต่อๆไป คำพูดของผมทำเอาหลายๆคนในห้องนั้นหน้าเจื่อนๆเงียบไปเหมือนกัน ผมไปบอกว่า "เรื่องการต่อทุนเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับนักเรียนทุน แต่ทำไมจึงไม่มีใครได้รับการติดต่อหรือบอกกล่าวในเรื่องนี้เลย ซึ่งผมกลับรู้เรื่องนี้จากการเตือนของเพื่อนผม ที่ก็มีปัญหาทำนองเดียวกันเมื่อปีก่อน" โดยผมหวังว่ารุ่นต่อๆไปจะได้รับการกำชับในเรื่องนี้เป็นอย่างดี เนื่องทางเจ้าหน้าที่ก็รับปากว่าเป็นคำแนะนำที่ดี (คิดเองในใจว่า น่าจะรู้ด้วยตนเองมาตั้งนานแล้ว เพราะนี่เป็นเด็กทุนรุ่นที่ 50 แล้ว) และจะพยายามเน้นย้ำกับทางคณะให้ดีขึ้น แต่การแนะนำของผมในครั้งนี้ ก็ไม่มีผลใดๆที่ผมจะสามารตัดสินใจในเรื่องวันกลับบ้านได้

เวลาเดือนกุมภาผ่านไปอย่างรวดเร็วเพราะแล็บที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ไปถกเถียงกลับหลายๆที่มาแล้วยังไม่ได้คำตอบใดๆที่แน่ชัด แต่ด้วยสัมผัสที่ 6 ของตัวเอง พอว่างจากแล็บช่วงปลายอาทิตย์ที่แล้ว จึงได้ฤกษ์จองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้า เป็นวันศุกร์ที่ 3 มีนา เพราะคิดเอาเองว่า ผลการต่อทุนควรจะมาวันสุดท้ายของเดือนกุมภา เลยคิดว่าจะไปเอาตั๋วและจ่ายตั๋วด้วยตนเองในวันพุธที่ 1 มีนา แต่จนแล้วจนรอด ผลก็ยังไม่มา แต่เนื่องด้วยต้องมีการเซ็นชื่อเพื่อรับทุนทุกๆต้นเดือน จึงเข้าไปที่เมนแคมปัสวันที่ 1 มีนา ผมจึงได้รู้ว่า ในที่สุดคนญี่ปุ่นก็ได้ตาสว่างขึ้นบ้าง เพราะเจ้าหน้าที่ที่ FSD ได้โทรไปสอบถามยังกระทรวง ซึ่งก่อนหน้านี้ก็บอกปัดมาตลอดเพราะไม่ใช่หน้าที่ คำตอบก็คือว่า ผลต่อทุนจะมาสัปดาห์หน้า แต่ใบที่จะเซ็นต่อทุนนั้น มีชื่อเรียกว่า 誓約書 หรือ Pledge หรือ ข้อสัญญาผูกมัด เป็นใบที่มีแบบฟอร์มเหมือนกันทุกปีที่เรียกได้ว่า งี่เง่ามากที่สุด (เพราะไม่รู้จะให้รอเซ็นทำไม ทั้งๆที่เป็นแบบฟอร์มที่เหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว ไม่แตกต่างแม้แต่การลงวันที่ เนื่องจากต้องเขียนเองหมด) แต่ทว่า... สำคัญที่สุด เค้าจึงตัดสินใจ(ได้สักที)ว่าให้ผมเซ็นใบนี้ล่วงหน้าไว้ แล้วให้เว้นวันที่เอาไว้ แล้วไปยื่นกับทางภาควิชา ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ภาควิชาดูจะเข้าใจอะไรดีกว่าเจ้าหน้าที่ที่ FSD เยอะมาก ต้องขอขอบคุณเอาไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ในที่สุด สัมผัสที่ 6 ก็ทำให้ผมได้กลับบ้านตามที่ได้จองเอาไว้

ไหนๆก็พูดถึงเรื่อง ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ที่เรียกว่า Monbukagakusho Scholarship นี้แล้ว จะไม่เล่าถึงประสบการณ์ที่จะว่าเลวร้ายที่สุดก็ไม่เชิง แต่น่าจะบอกว่าเป็นเหตุการณ์ที่เสียความรู้สึกมากที่สุดครั้งหนึ่งก็ว่าได้ เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อตอนปิดเทอมหน้าร้อนปีแรกที่มาเกียวโต ซึ่งเป็นช่วงที่ผมยังเรียนภาษาอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก ก่อนที่จะเตรียมตัวสอบเข้าโทในช่วง 6 เดือนหลัง ผมได้ส่งเมล์ในเชิงขออนุญาตโปรเฟสเซอร์ผมเพื่อที่จะเดินทางไปต่างประเทศในช่วงปิดเทอมไม่เกิน 2 อาทิตย์ เพราะตอนนั้นคุณลุงของผมจะเดินทางไปยุโรปด้วยเหตุผลทางธุรกิจ ผมจึงได้โอกาสสบช่องไปด้วยเพราะจะได้ประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ และจะได้เรียนรู้ธุรกิจและเยี่ยมชมโรงงานด้วย

แต่คำตอบที่ผมได้รับ จากคำถามที่เกริ่นถามไปสั้นๆ มีใจความโดยสรุปเป็นภาษาไทยว่า "ผมไม่เห็นด้วยที่คุณจะใช้เงินทุนไปเที่ยวต่างประเทศ ตอนนี้คุณรู้หน้าที่ของตัวเองหรือไม่ ที่มีหน้าที่เรียนหนังสือ และคุณก็กำลังใช้เงินของภาษีของคนญี่ปุ่นทั่วประเทศ นอกจากนั้นยังมีคนญี่ปุ่นอีกมากมายที่ตกงานไม่มีงานทำ แต่คุณกลับเอาเงินตรงนี้ไปใช้ ถ้าเกิดคุณเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่เมืองไทยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง" คำตอบที่ได้รับนี้ ทำเอาผมอึ้งไปมากพอสมควร ก่อนจะใช้สติเท่าที่มีอยู่ตอบกลับไปด้วยเหตุผลถึงความตั้งใจเรียนหนังสือของผม และตระหนักอยู่เสมอในการใช้เงินของคนญี่ปุ่น นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของความเป็นคนญี่ปู๊นคนญี่ปุ่นของอาจารย์ผม แต่เมือเราเอาชนะใจเขาได้ มองข้ามสิ่งนี้ของเขาไป มิตรภาพที่ดีๆก็จะตามมาเอง เรื่องของอาจารย์ยังมีอีกเยอะ ถ้ามีโอกาสจะเล่าให้ฟัง (ไม่ใช่เป็นการนินทา แต่ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน)

นี่ล่ะ...ที่บอกว่า เป็น เด็กทุน(ญี่ปุ่น)ต้องอดทน จริงๆ


หมายเหตุ...

คำถามที่ไม่มีคำตอบเรื่อง 誓約書 หรือ Pledge หรือ ข้อสัญญาผูกมัด
1. ทำไมไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าเลย ว่านักเรียนต่างชาติที่ต้องต่อทุนต้องเซ็นใบนี้?
2. ทำไมต้องมีการเซ็นใบนี้ ในช่วงปิดเทอมที่นักเรียนต่างชาติมักจะเดินทางกลับประเทศ?
3. ทำไมถึงมีช่วงเวลาในการเซ็นใบนี้สั้นมาก ทั้งๆที่เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด?
4. การทำงานที่มีขั้นตอนมากมายและเป็นระบบจนเกินไปแบบญี่ปู๊นญี่ปุ่นนี้ ใช่ว่าจะเป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่สุด?

หวังว่าคำถามเหล่านี้จะได้รับแก้ไขบ้างไม่มากก็น้อยในปีการศึกษาต่อๆไป