คนญี่ปู๊น คนญี่ปุ่น

เรื่องราวแปลกๆของคนญี่ปุ่น ที่มันช่างญี่ปู๊นญี่ปุ่น จนทำให้คนไทยอย่างผม งงงวยไปกับความเป็นญี่ปุ่นอย่างยอมรับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง หรือต้องทนยอมรับบ้าง

Friday, March 03, 2006

ตอนที่ 3: เด็กทุน(ญี่ปุ่น)ต้องอดทน

คืนที่เขียนบล๊อกวันนี้เป็นคืนก่อนที่จะเดินทางกลับเมืองไทยไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอนเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่มาเรียนที่มหาวิทยาลัยเกียวโตด้วยทุนรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อเกือบๆ 2 ปีที่แล้ว กว่าจะสามารถกำหนดวันกลับบ้านได้ในคราวนี้ มีเรื่องที่ทำให้ต้องลำบากใจ เหนื่อยใจ จนปลงกับความเป็นคนญี่ปู๊นญี่ปุ่น กับระบบแบบญี่ปู๊นญี่ปุ่นได้อย่างสงบใจ แต่เนื่องจากเรารับเงินของรัฐบาลประเทศเขา จึงไม่มีเหตุผลอื่นใดที่จะไปโต้แย้ง นอกเสียจากได้แต่ให้คำแนะนำบางอย่างแก่เขา และรอคอยเท่านั้น

เรื่องก็มีอยู่ว่าผมเตรียมตัวที่จะกลับบ้านในช่วงปลายเดือนกุมภาหรืออาจจะต้นเดือนมีนาเหมือนเมื่อปีที่แล้ว แต่ได้รับการเตือนจากเพื่อนทุนปีก่อนว่า จะมีการเซ็นชื่อใบสัญญาต่อทุนในช่วงที่ผมจะกลับนี้ เนื่องจากทุนสัญญาแรกของผมจะหมดเมื่อครบ 2 ปีแรก ในปลายเดือนมีนาคม ทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมาทันทีว่า ทำไมจึงไม่ได้รับการบอกกล่าวใดๆจากทั้งทางภาควิชา คณะ หรือแม้แต่หน่วยงานที่เรียกว่า Foreign Student Division (FSD) ซึ่งทำหน้าที่ติดต่อกับเด็กนักเรียนต่างชาติโดยตรง ทั้งๆที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถึงมากที่สุด เพราะถ้าผมไม่ได้เซ็น ก็เท่ากับว่า ไม่มีสตางค์เรียนต่อแน่นอน

ย่างเข้าต้นเดือนกุมภาก็แล้ว ก็ยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆจากใครทั้งสิ้น ผมจึงตัดสินใจไปสอบถามเรื่องนี้ด้วยตนเองจากทางคณะ เพื่อจะไปปรึกษาว่าควรจะกลับช่วงไหนที่น่าจะปลอดภัยต่อการเซ็นมากที่สุด แต่คำตอบที่ได้ ก็คือว่า ไม่สามารถยืนยันอะไรได้(เลย) เพราะไม่ได้มีการบอกชัดเจนจากทางกระทรวงศึกษาฯว่าจะส่งมาเมื่อไหร่ แล้วต้องส่งกลับภายในวันที่เท่าไหร่ ก็เลยเดินคอตกกลับไป

อีกอาทิตย์ต่อมา มีโอกาสได้เข้าไปที่เมนแคมปัส เพราะต้องไปทำเรื่องต่อวีซ่าซึ่งจะหมดไปพร้อมๆกับทุนนั่นเอง นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่เด็กที่เรียนในต่างประเทศจะต้องรับผิดชอบตัวเองตรงนี้ให้ดี ผมจึงถือโอกาสนี้ไปต่อว่าที่ FSD เล็กน้อย เอาเป็นว่าให้คำแนะนำในการทำงานของเค้า เพื่อจะได้ปรับปรุงสำหรับปีต่อๆไป คำพูดของผมทำเอาหลายๆคนในห้องนั้นหน้าเจื่อนๆเงียบไปเหมือนกัน ผมไปบอกว่า "เรื่องการต่อทุนเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับนักเรียนทุน แต่ทำไมจึงไม่มีใครได้รับการติดต่อหรือบอกกล่าวในเรื่องนี้เลย ซึ่งผมกลับรู้เรื่องนี้จากการเตือนของเพื่อนผม ที่ก็มีปัญหาทำนองเดียวกันเมื่อปีก่อน" โดยผมหวังว่ารุ่นต่อๆไปจะได้รับการกำชับในเรื่องนี้เป็นอย่างดี เนื่องทางเจ้าหน้าที่ก็รับปากว่าเป็นคำแนะนำที่ดี (คิดเองในใจว่า น่าจะรู้ด้วยตนเองมาตั้งนานแล้ว เพราะนี่เป็นเด็กทุนรุ่นที่ 50 แล้ว) และจะพยายามเน้นย้ำกับทางคณะให้ดีขึ้น แต่การแนะนำของผมในครั้งนี้ ก็ไม่มีผลใดๆที่ผมจะสามารตัดสินใจในเรื่องวันกลับบ้านได้

เวลาเดือนกุมภาผ่านไปอย่างรวดเร็วเพราะแล็บที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ไปถกเถียงกลับหลายๆที่มาแล้วยังไม่ได้คำตอบใดๆที่แน่ชัด แต่ด้วยสัมผัสที่ 6 ของตัวเอง พอว่างจากแล็บช่วงปลายอาทิตย์ที่แล้ว จึงได้ฤกษ์จองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้า เป็นวันศุกร์ที่ 3 มีนา เพราะคิดเอาเองว่า ผลการต่อทุนควรจะมาวันสุดท้ายของเดือนกุมภา เลยคิดว่าจะไปเอาตั๋วและจ่ายตั๋วด้วยตนเองในวันพุธที่ 1 มีนา แต่จนแล้วจนรอด ผลก็ยังไม่มา แต่เนื่องด้วยต้องมีการเซ็นชื่อเพื่อรับทุนทุกๆต้นเดือน จึงเข้าไปที่เมนแคมปัสวันที่ 1 มีนา ผมจึงได้รู้ว่า ในที่สุดคนญี่ปุ่นก็ได้ตาสว่างขึ้นบ้าง เพราะเจ้าหน้าที่ที่ FSD ได้โทรไปสอบถามยังกระทรวง ซึ่งก่อนหน้านี้ก็บอกปัดมาตลอดเพราะไม่ใช่หน้าที่ คำตอบก็คือว่า ผลต่อทุนจะมาสัปดาห์หน้า แต่ใบที่จะเซ็นต่อทุนนั้น มีชื่อเรียกว่า 誓約書 หรือ Pledge หรือ ข้อสัญญาผูกมัด เป็นใบที่มีแบบฟอร์มเหมือนกันทุกปีที่เรียกได้ว่า งี่เง่ามากที่สุด (เพราะไม่รู้จะให้รอเซ็นทำไม ทั้งๆที่เป็นแบบฟอร์มที่เหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว ไม่แตกต่างแม้แต่การลงวันที่ เนื่องจากต้องเขียนเองหมด) แต่ทว่า... สำคัญที่สุด เค้าจึงตัดสินใจ(ได้สักที)ว่าให้ผมเซ็นใบนี้ล่วงหน้าไว้ แล้วให้เว้นวันที่เอาไว้ แล้วไปยื่นกับทางภาควิชา ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ภาควิชาดูจะเข้าใจอะไรดีกว่าเจ้าหน้าที่ที่ FSD เยอะมาก ต้องขอขอบคุณเอาไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ในที่สุด สัมผัสที่ 6 ก็ทำให้ผมได้กลับบ้านตามที่ได้จองเอาไว้

ไหนๆก็พูดถึงเรื่อง ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ที่เรียกว่า Monbukagakusho Scholarship นี้แล้ว จะไม่เล่าถึงประสบการณ์ที่จะว่าเลวร้ายที่สุดก็ไม่เชิง แต่น่าจะบอกว่าเป็นเหตุการณ์ที่เสียความรู้สึกมากที่สุดครั้งหนึ่งก็ว่าได้ เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อตอนปิดเทอมหน้าร้อนปีแรกที่มาเกียวโต ซึ่งเป็นช่วงที่ผมยังเรียนภาษาอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก ก่อนที่จะเตรียมตัวสอบเข้าโทในช่วง 6 เดือนหลัง ผมได้ส่งเมล์ในเชิงขออนุญาตโปรเฟสเซอร์ผมเพื่อที่จะเดินทางไปต่างประเทศในช่วงปิดเทอมไม่เกิน 2 อาทิตย์ เพราะตอนนั้นคุณลุงของผมจะเดินทางไปยุโรปด้วยเหตุผลทางธุรกิจ ผมจึงได้โอกาสสบช่องไปด้วยเพราะจะได้ประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ และจะได้เรียนรู้ธุรกิจและเยี่ยมชมโรงงานด้วย

แต่คำตอบที่ผมได้รับ จากคำถามที่เกริ่นถามไปสั้นๆ มีใจความโดยสรุปเป็นภาษาไทยว่า "ผมไม่เห็นด้วยที่คุณจะใช้เงินทุนไปเที่ยวต่างประเทศ ตอนนี้คุณรู้หน้าที่ของตัวเองหรือไม่ ที่มีหน้าที่เรียนหนังสือ และคุณก็กำลังใช้เงินของภาษีของคนญี่ปุ่นทั่วประเทศ นอกจากนั้นยังมีคนญี่ปุ่นอีกมากมายที่ตกงานไม่มีงานทำ แต่คุณกลับเอาเงินตรงนี้ไปใช้ ถ้าเกิดคุณเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่เมืองไทยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง" คำตอบที่ได้รับนี้ ทำเอาผมอึ้งไปมากพอสมควร ก่อนจะใช้สติเท่าที่มีอยู่ตอบกลับไปด้วยเหตุผลถึงความตั้งใจเรียนหนังสือของผม และตระหนักอยู่เสมอในการใช้เงินของคนญี่ปุ่น นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของความเป็นคนญี่ปู๊นคนญี่ปุ่นของอาจารย์ผม แต่เมือเราเอาชนะใจเขาได้ มองข้ามสิ่งนี้ของเขาไป มิตรภาพที่ดีๆก็จะตามมาเอง เรื่องของอาจารย์ยังมีอีกเยอะ ถ้ามีโอกาสจะเล่าให้ฟัง (ไม่ใช่เป็นการนินทา แต่ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน)

นี่ล่ะ...ที่บอกว่า เป็น เด็กทุน(ญี่ปุ่น)ต้องอดทน จริงๆ


หมายเหตุ...

คำถามที่ไม่มีคำตอบเรื่อง 誓約書 หรือ Pledge หรือ ข้อสัญญาผูกมัด
1. ทำไมไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าเลย ว่านักเรียนต่างชาติที่ต้องต่อทุนต้องเซ็นใบนี้?
2. ทำไมต้องมีการเซ็นใบนี้ ในช่วงปิดเทอมที่นักเรียนต่างชาติมักจะเดินทางกลับประเทศ?
3. ทำไมถึงมีช่วงเวลาในการเซ็นใบนี้สั้นมาก ทั้งๆที่เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด?
4. การทำงานที่มีขั้นตอนมากมายและเป็นระบบจนเกินไปแบบญี่ปู๊นญี่ปุ่นนี้ ใช่ว่าจะเป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่สุด?

หวังว่าคำถามเหล่านี้จะได้รับแก้ไขบ้างไม่มากก็น้อยในปีการศึกษาต่อๆไป

Wednesday, January 11, 2006

ตอนที่ 2: อันเนื่องมาจากทริปสกี

ต้องรีบมาเขียนก่อนที่จะเปลี่ยนโหมดความคิดจากการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องตลอดสองอาทิตย์ของปิดเทอมฤดูหนาวที่ผ่านมา เป็นการคร่ำเคร่งกับการทดลองและงานวิจัยที่ยากแสนยาก (แต่ก็ยังดั้นด้นเรียนมันเข้าไป) ปิดเทอมหน้าหนาวปีนี้เวลาผ่านไปเร็วจริงๆ เป็นปิดเทอมหน้าหนาวที่แทบจะไม่มีเวลาได้เหงาเลย เพราะมีเพื่อนมาพักที่บ้านเกือบสิบวัน เลยต้องทำหน้าที่เป็นไกด์จำเป็น(อีกแล้ว)พาเที่ยวแถบคันไซ จากนั้นก็ฉลองปีใหม่อย่างต่อเนื่อง และปิดท้ายด้วยทริปสกีใหญ่ที่ได้เขียนไปแล้วนั่นเอง แล้วก็เพราะไอ้เจ้าทริปสกีนี่แหละที่ทำให้ผมได้เรื่องแบบฉบับคนญี่ปู้น คนญี่ปุ่น มาเขียนอีกจนได้ (จริงๆมันมีอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่ค่อยได้สะกิดใจมากเท่าไหร่)

ทริปสกีคราวนี้ถือได้ว่าเป็นการไปเล่นสกีที่สนุกที่สุดของผมเลยก็ว่าได้ ไม่ใช่เพราะว่า Hakuba Goryu&47 เป็นลานสกีที่ดีที่สุด (เพราะคอร์สที่นี่มีไม่มากเท่าไหร่เมื่อเทียบกับที่อื่นๆ เช่น Nosawa Onsen แต่เหมาะสำหรับเด็กหัดใหม่มาก เพราะลานค่อนข้างกว้างและลานสีแดงก็ไม่ยากจนเกินไป) หรือเพราะว่า ได้อุปกรณ์สกีที่ดีมาและราคาถูกอย่าง Salomon แต่นั่นเป็นเพราะว่าผมได้มิตรภาพจากเพื่อนๆพี่ๆน้องๆคนไทยทั้ง 70 กว่าคนจากต่างถิ่นกันในแดนปลาดิบนี้มาร่วมวงไถลสกีด้วยกันต่างหาก (แม้ที่บอกว่าจะเป็นเหตุผลที่ประกอบกันด้วยก็ตาม) แต่ถึงจะเป็นทริปสกีแห่งความทรงจำดีๆมากมายก็ตาม แต่ก็มีความทรงจำแย่ๆที่ทำให้หงุดหงิดอยู่เรื่อยๆไม่น้อยเช่นกัน

เริ่มต้นจากความหงุดหงิดที่หนึ่ง ก็คือการที่คนขับรถบัสลืมมารับพวกเราทั้ง 13 ชีวิตที่เกียวโต ออกจากโอซาก้า แล้วพุ่งฉิวขึ้นทางด่วนไปเลย ดีนะที่โทรไปถามเพื่อนพ้องโอซาก้า ทำให้ได้ใจความว่าบริษัททัวร์ที่ชื่อว่า Orion Tour มันไม่ได้บอกคนขับรถว่าต้องมารับคนต่อที่เกียวโต ตอนแรกก็คิดว่า คนขับรถทัวร์สัญชาตินี้มันจะไม่ฉงนใจ หรือคิดหน่อยเลยหรือว่า คนมันไม่เต็มรถอย่างนี้ มันจะคุ้มกับค่าน้ำมันที่ขับเหรอ แต่พอมาคิดได้ว่าพวกเราเหมารถไปทั้งคัน เพราะจำนวนคนมันเต็มที่นั่งพอดี ก็เลยไม่อยากจะไปต่อว่าอะไรมากมาย เพียงแต่นึกได้ว่า นี่ละที่เป็นญี่ปู้น ญี่ปุ่น ข้างบนสั่งมาอย่างไร สั่งให้ขับก็ขับไป บอกมาแค่ไหน ก็ทำแค่นั้น ทำเต็มที่นะ แต่ทำเท่าที่ได้รับคำสั่ง ถ้าเกิดว่าคนขับรถเพียงแค่เอ่ยปากถามใครสักคนจากโอซาก้าว่า มีไปรับต่อที่ไหนมั้ย อย่างไร พวกเราเด็กเกียวโตคงจะไม่ต้องหนาวสั่น งานนี้ไม่อยากจะโทษว่าใครถูกใครผิด แต่บริษัททัวร์นี่ผิดเต็มๆที่ไม่บอกอะไรคนขับรถเลย แต่ในความโชคร้ายก็ทำให้เราพลิกวิกฤตเป็นโอกาส โอกาสที่ได้เล่นบอลลูน การละเล่นสมัยประถม ไปพลางๆกว่าชั่วโมงครึ่ง นั่นเอง

หลังจากที่เรามาถึงบริเวณลานสกีประมาณหกโมงครึ่ง (ซึ่งถือว่าเร็วใช้ได้ทีเดียว ขอบคุณคนขับที่สลับกันหลับและขับได้อย่างเยี่ยมยอด) เอากระเป๋าไปวางที่โรงแรมอะไรเรียบร้อย ก็มาเตรียมเช่าชุดและอุปกรณ์สกี ซึ่งก็เป็นต้นเหตุของความหงุดหงิดที่สอง นั่นก็คือ เนื่องจากพวกเรามากันเป็นหมู่คณะ ทางบริษัททัวร์ออกใบที่เอาไว้สำหรับการเช่าอุปกรณ์ไว้แค่สองใบ นั่นคือ หนึ่งใบของเด็กโตเกียว และอีกใบของเด็กคันไซ สตาฟฟ์ที่ Escal Plaza เลยแบ่งพวกเราเป็นสองแถว แถวละสามสิบ สี่สิบคน เหมือนจะดูดีเป็นระเบียบ แต่มันทำให้เราได้รับอุปกรณ์ช้ามากๆ โดนพวกคนญี่ปุ่นที่มาทีหลังแต่จำนวนน้อยกว่า แซงไปเข้าเคาน์เตอร์ที่เหลือ ไม่รู้กี่สิบคน พวกเราก็รอกันครับ ชั่วโมงกว่าเห็นจะได้ แถมมีการมาบอกอีกว่าสกีสั้นที่อยากจองนั้นอาจจะไม่พอ ทำให้เราใจตุ้มๆต่อมๆอีกต่างหาก แม้ว่าแถวของโตเกียวจะหมดไปแล้ว เพราะพวกโตเกียวมาต่อแถวก่อนและจำนวนคนน้อยกว่าเด็กคันไซ พวกสตาฟฟ์ก็ไม่ยอมตัดแถวเราไป ทั้งๆที่มาก่อน ทั้งๆที่ไม่ได้มีความจำเป็นต้องต่อแถวเดียวกัน เพราะใบที่ว่านั้น ก็ไม่ได้เอามาใช้ประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น ผมซึ่งอยู่ปลายๆแถว ต้องรอจนไม่มีคนญี่ปุ่นอื่นๆอีกมาต่อแล้ว ถึงตัดสินใจเปลี่ยนเคาร์เตอร์เองเลย แล้วก็ต่อว่าเป็นภาษาญี่ปุ่นในแบบฉบับของผมเข้าไปยกหนึ่ง ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าที่ทำอย่างนี้เพราะว่าความเป็นคนญี่ปู้น ญี่ปุ่นของเค้า หรือเห็นเราเป็นกระเหรี่ยงชาวสยามขี่ช้างกันแน่ เอาเป็นว่าต่อว่าไปเรียบร้อยครับ

ต่อจากนั้น ความหงุดหงิดต่างๆก็แทบจะหมดไปครับ จากการที่ได้เล่นสกีสมใจสักที วันแรกก็สอนน้องๆหัดใหม่ทั้งหลาย ล้มลุกคลุกกลิ้งกันตามระเบียบ เล่นสกีไม่ล้ม ไม่มีวันเก่งแน่นอน หลายคนอาจจะเพ้อเป็นคำว่าสามเหลี่ยมไปอีกหลายคืน เพราะได้ยินคำนี้ตลอดทั้งวัน พอถึงตอนเช็กอินตอนเย็น บริษัททัวร์เจ้าเก่าก็ทำพิษอีกแล้วเป็นความหงุดหงิดที่สาม ที่เปลี่ยนโรงแรมของสี่สาวนาโงย่าเฉยซะงั้น ทำเอาอึ้งเป็นรอบที่ล้านแปดกับความมั่วซั่วของ Orion tour จริงๆ

แต่อย่างไรก็ดี ในความหงุดหงิดก็มีความอบอุ่นจากคุณป้าเจ้าของโรงแรม Sejour Mint ที่มีให้กับพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่แสนอร่อย ห้องนอนและห้องอาบน้ำที่สะดวกสบาย และที่สำคัญคือความช่วยเหลือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่ให้เราวางข้าวของสัมภาระได้โดยไม่ต้องเสียค่า Early Check-in และ Late Check-out รวมไปถึงการที่คุณลุงขับรถไปส่งเฮียต้าผู้บาดเจ็บถึง Escal Plaza ซึ้งในน้ำใจมากๆ (ไม่เคยได้รับการดูแลจากเจ้าของโรงแรมดีๆอย่างนี้แถวๆลานสกีเลย ประทับใจมากจริงๆ) แต่ในความน่ารักนี้ ก็มีความญี่ปู้น ญี่ปุ่นจากคุณป้าอีกคนในมื้ออาหารเช้าของวันสุดท้าย เนื่องจากโต๊ะที่ผมนั่งยังมากันไม่ครบ แล้วก็นั่งกันกระจัดกระจาย และก็มีคนป่วยของทริปนั่งอยู่ด้วย ป้าก็เข้ามาถามอยู่เรื่อยๆว่าคนยังไม่ครบ ยังไม่เสิร์ฟอาหารนะ ผมก็คิดในใจว่าเสิร์ฟก่อนมันจะเป็นอะไรล่ะเนี่ย เพราะท่านต้าก็ปวดข้อมากๆจนอยากจะกินข้าวให้เสร็จๆ ก็เลยบอกป้าว่าขอเสิร์ฟก่อนเลยได้มั้ย ป้าก็บอกว่าให้นั่งมาชิดๆกันข้างใน จะได้เสิร์ฟทีเดียว ผมก็อืม ทำไมหว่า??? มันต่างกันอย่างไร กว่าป้าจะคิดได้ว่ามันก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่แล้วเอาอาหารมาเสิร์ฟ ก็ทำเอาพวกเราเอ๋อไปกับความคิดของป้าแบบญี่ปู้น ญี่ปุ่นนี้เสียจริง

ความหงุดหงิดต่างๆนี้หายไปหมด ทันทีที่ได้ใส่สกี ทริปนี้สนุกประทับใจมาก วันที่สองที่สามก็เล่นท่วงท่าบ้าง ลุยเส้นแดงเส้นดำบ้าง สนุกสนานกันไป แม้จะมีเรื่องน่าอับอายกับการล้มเพราะไถลถอยหลังแล้วลืมดูทาง เลยทำให้ขาแหก 180 องศา ให้ผู้คนได้เป็นประจักษ์พยานกันมากมาย แล้วก็ทำให้รู้ว่าเด็กไทยเรามีสติดีมาก แทนที่จะมาช่วยผมเอาไม้สกีออกจากเสาที่ติดอยู่ คำพูดแรกที่ได้ยินนั่นก็คือ "หยุดๆอย่าเพิ่งขยับ เดี๋ยวถ่ายรูปก่อน" ...

Saturday, December 03, 2005

ตอนที่ 1: ทำไมต้องไปทริปแล็บ

ตั้งใจมานานแล้วเหมือนกันว่าจะเขียนอะไรที่มันเกี่ยวกับคนญี่ปุ่น เพราะว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนที่มีลักษณะนิสัยหลายๆอย่างที่จะว่าแปลกก็ไม่เชิง เอาเป็นว่าแทบไม่เหมือนใครในโลก และไม่มีใครเหมือนได้ หรือไม่มีใครอยากเหมือน จนได้ว่าเป็นคนญี่ปู้น คนญี่ปุ่น ตามชื่อเรื่องที่ตั้งเอาไว้

ที่ได้ฤกษ์เขียนในครั้งนี้เพราะว่าเพิ่งกลับจากทริปแล็บเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แล้วมีความรู้สึกว่านี่แหละเป็นความคิดของคนญี่ปุ่นของแท้และแน่นอน เลยรีบนำมาเขียนเป็นตอนแรกของบทความชุดนี้ก่อนที่ความรู้สึกจะเลือนลางไป ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีไปซักกี่ตอน ทั้งนี้ทั้งนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับความเป็นเอกลักษณ์สุดๆของคนญี่ปุ่นนั้น จะมาให้ผมได้รับรู้สัมผัสมากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง

เท้าความก่อนนิดนึงว่า ที่ญี่ปุ่นนี้ การเรียนในระดับปริญญาโทขึ้นไป ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นสายวิทย์หรือศิลป์จะมีการแบ่งเป็น ห้องวิจัย ต่างๆหรือที่เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า เคงคิว หรือง่ายๆว่า แล็บ สำหรับภาษาอังกฤษ ซึ่งแต่ละแล็บก็จะมีศาสตราจารย์ประจำแล็บ และก็อาจจะมีอาจารย์เล็กอาจารย์รองมากน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของแล็บนั้นๆ

นอกจากเรื่องเรียนเรื่องวิจัยแล้ว อีกเรื่องนึงที่สำคัญไม่แพ้กันในแล็บก็คือกิจกรรมต่างๆของแล็บ ที่ก็จะมีมากน้อยต่างกันไปขึ้นอยู่กับศาสตราจารย์ประจำแล็บนั้นๆ(เป็นหลัก) ในส่วนของแล็บผมนั้น ถือว่าเป็นแล็บที่มีกิจกรรมต่างๆมากอยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นงานเลี้ยงต่างๆ เริ่มจากการเลี้ยงต้อนรับเด็กปีสี่ที่เข้าแล็บใหม่ งานเลี้ยง(เกือบ)ทุกครั้งที่มีการพรีเซนท์ใหญ่ๆเสร็จ งานเลี้ยงฉลองจบ งานเลี้ยงสิ้นปีก่อนปีใหม่ และงานเลี้ยงอื่นๆตามโอกาส ซึ่งก็จะหมดตัวกันไปตามๆกัน นอกจากนั้นก็จะมีการเล่นกีฬาระหว่างแล็บภายในภาควิชา ที่ต้องจัด ย้ำว่า ต้องจัด เพราะมันเป็นประเพณี มันเป็นหน้าที่ มากกว่าเพื่อความสนุกสนาน ถึงแม้ตอนแข่งก็จะดูสนุกสนานกันอยู่พอสมควรก็ตาม

และอีกกิจกรรมนึงที่แล็บโดยส่วนใหญ่จะมี นั่นก็คือการจัดทริปแล็บไปเที่ยวต่างจังหวัดกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดกันปีละครั้ง แต่แล็บของผมจัดกันปีละ สองครั้ง เนื่องด้วยเพราะอะไรไม่อาจทราบได้(แม้จะเคยถามเพื่อนๆในแล็บมาบ้างก็ตาม) แต่สันนิษฐานได้สองข้อ คือหนึ่ง อาจารย์สั่งมา หรือสอง ทำต่อเนื่องกันมาจนยากที่จะเปลี่ยนแปลง สองครั้งที่ว่านี้ก็คือ ไปเที่ยวทะเลตอนซัมเมอร์ครั้งนึง และไปแช่บ่อน้ำร้อนตอนช่วงใบไม้เปลี่ยนสีอีกครั้งนึง ซึ่งแต่ละครั้งก็จะต้องเสียสะตุ้งสตางค์ไม่ต่ำกว่าห้าพันบาทต่อคนสำหรับสองวันหนึ่งคืน

จะว่าไปหลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่าไปเที่ยวตั้งปีละสองครั้งมันไม่ดีตรงไหน หรือมันแปลกตรงไหน จริงๆผมออกจะเป็นคนชอบท่องเที่ยวซะด้วยซ้ำไป แต่ที่ว่าแปลกก็คือจุดประสงค์หลักของการไปเที่ยวทริปแล็บคือ การที่ร่วมกิจกรรมของแล็บที่มีอาจารย์ไปด้วย นั่นก็หมายความว่า ถ้าอาจารย์ไม่ไป ก็ไม่ได้มีความอยากหรือสนุกสนานตั้งตารอคอยที่จะไปเที่ยว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปนั่นเอง เหตุผลหลักๆที่ไม่อยากไปกันนั้น ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องเงินๆทองๆนั่นเอง ใครที่คิดว่าคนญี่ปุ่นทุกคนมีเงินถุงเงินถังใช้กันก็คงผิดถนัดเลย หลายคนตระหนี่มากกว่าเราเยอะ คิดอะไรเป็นเงินเป็นทองไปหมด ต้องขยันทำงานพิเศษเพื่อเอามาซื้อของฟุ่มเฟือยต่างๆ

กลับมาเรื่องทริปแล็บกันต่อ ครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่อาจารย์ติดธุระจริงๆ ไม่สามารถไปได้ ทำให้หลายๆคนมาบ่นกันว่าไม่มีความหมายใดๆที่จะไป ซึ่งมันเหมือนเป็นภาคบังคับที่จะต้องไป เป็นหน้าที่ คิดดูแล้วกันว่า การไปเที่ยว ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ นั่นละเหตุผลที่ผมไม่อยากจะไปทริปแล็บสักเท่าไหร่ ยิ่งช่วงแรกๆที่เพิ่งเข้าแล็บใหม่ๆที่ยังไม่ค่อยสนิทกับใคร คิดดูเองแล้วกันว่าการไปเที่ยวมันจะน่าเบื่อแค่ไหนที่ไม่รู้จะพูดจาปราศรัยกับใคร เหมือนนั่งรถนิ่งๆไป นอนหนึ่งคืนแล้วกลับ แต่พอหลังๆเริ่มกันเองคุ้นเคยมากขึ้นก็เลยไม่ค่อยรู้สึกอะไรเท่าไหร่ หรืออาจจะชินไปแล้วก็ไม่อาจทราบได้

บอกเล่ากันสักหน่อยว่าไปทำอะไรกันบ้างที่ทริปแล็บ ง่ายๆเลยก็คือว่า ไปเปลี่ยนที่นอนกับที่ดื่มเหล้าดื่มเบียร์นั่นเอง แถมด้วยไปเที่ยวนิดๆหน่อยๆ ตอนอยู่ที่โรงแรม ก็ต้องมานั่งรวมกันที่ห้องๆหนึ่ง นั่งคุยกันไปเรื่อย โดยมีควันบุหรี่อบอวลเต็มห้องนอนห้องนั้นเป็นของแถมที่ไม่อยากได้ บางกลุ่มก็อาจจะเล่นเกม เล่นหมากรุกญี่ปุ่นว่ากันไป ถ้าไม่ใส่ใจอะไรมาก ก็หนีไปนอนห้องอื่น หรือไปนั่งเล่นห้องอื่นได้เหมือนกัน ผมจึงมักจะพกหนังสือสักเล่มไปเสมอ เพื่อจะได้หนีจากห้องรวมเมื่อทนกลิ่นบุหรี่ไม่ไหว กว่าจะแยกย้ายกันก็ต่อเมื่ออาจารย์ลุกไปนอนห้องที่จัดไว้พิเศษนั่นล่ะ

นี่แหละ...ทริปแล็บสไตล์คนญี่ปู้นคนญี่ปุ่นที่เป็นหน้าที่เหมือนการเกณฑ์ทหาร ที่คนที่ชอบนอนอยู่บ้านเฉยๆ กับคนที่ชอบบุกป่าฝ่าดง ต้องมาเที่ยวด้วยกันแบบเสียไม่ได้ ก็เลยสนุกแบบเจื่อนๆอย่างนี้ล่ะ อย่างไรก็ตาม ทริปแล็บปีนี้ ผมให้คะแนนสี่ดาวไปเลยทั้งทริปทะเลและบ่อน้ำร้อน เพราะได้ไปในที่ที่เราไม่เคยไป และมันก็เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศที่ดีไม่น้อย แถมมีการแบ่งกลุ่มเป็นสองพวกในวันที่สอง ทำให้ผมไม่จำเจเท่าไหร่ นัก เอาเป็นว่าคุ้มกับตังค์ที่เสียไปก็แล้วกัน อีกอย่างคงเป็นเพราะผมสนิทกับเพื่อนๆบ้างแล้วกระมัง...

P.S. Sorry for non-Thai native people